กรมประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่ถ่ายทำวีดีทัศน์ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ผ้าลายอัตลักษณ์สร้างมูลค่าเพิ่มทางประวัติศาสตร์ ณ ศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้นางดลภัทร การธราชว์ และคณะทีมงาน PRD Magazine (วารสารกรมประชาสัมพันธ์) ลงพื้นที่ถ่ายทำวีดิทัศน์ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ผ้าลายอัตลักษณ์สร้างมูลค่าเพิ่มทางประวัติศาสตร์ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น และจังหวัดที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อาจารย์ ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล และนายกิตติพงษ์ พึ่งแตง ส.อบจ.เขต2 เมืองเพชรบุรี ร่วมถ่ายทำวีดิทัศน์ในครั้งนี้ สำหรับการถ่ายทำดังกล่าวศูนย์วิจัยมะริด –สิงขรศึกษาได้นำเสนอผ้าลายอัตลักษณ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางประวัติศาสตร์ของศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และนำอัตลักษณ์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มาดำเนินการพัฒนาผ้าลายอย่างและผ้าลายอื่น ๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผ้าลายทางประวัติศาสตร์จำนวน 10 ลาย ได้แก่
1) ผ้าลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าชั้นสูงที่ใช้ในราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาฯ
2) ผ้าบายเพ็ชรราชวัตร ซึ่งได้ถอดแบบมาจากผ้าอินเดียที่ใช้เป็นผ้าห่อพระคัมภีร์ที่วัดลาด
3) ผ้าลายสุวรรณวัชร์ เป็นลายผ้าที่ต่อยอดมาจากผ้าเพชรราชภัฏ และได้รับการยอมรับจากจังหวัดเพชรบุรี
4) ผ้าลายปลาทู เป็นผ้าที่เกิดจากการศึกษาวงจรชีวิตของปลาทูในอ่าวไทย
5) ผ้าลายทุ่งนาป่าตาล เป็นผ้าที่เกิดจากการศึกษาความเป็นมาของเส้นทางสายไหมทางทะเลในอดีตจนถึงปัจจุบัน
6) ผ้าลายเพชรราชภัฏ เป็นผ้าอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและจังหวัดเพชรบุรี
7) ผ้าลายครอบครัวปลาวาฬ เป็นลายอัตลักษณ์ของพื้นที่หมู่บ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
8) ผ้าลายพลายแรมสิงขร เป็นผ้าลายที่แสดงความรำลึกถึงช้างเชือกสุดท้ายในหมู่บ้านสิงขร
9) ผ้าลายเหรียญดอกไม้พระร่วง ซึ่งเป็นเหรียญโลหะผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่วที่พบในแม่น้ำเพชรบุรี เป็นเงินที่ใช้กันแพร่หลายในสมัยกรุงศรีอยุทธยา
10) ผ้าพันคอ “ลายแผนที่แหล่งโบราณคดียุคทวารวดีเมืองพริบพรี” เป็นผ้าพันคอที่ออกแบบลายเป็นแผนที่เมืองเพชรบุรีที่แสดงถึงโบราณคดียุคทวารวดีที่พบในจังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ ทางกรมประชาสัมพันธ์จะนำไปเผยแพร่และนำไปประกอบการจัดทำวารสารประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ และจัดทำวีดิทัศน์ผ่านช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนการต่อยอดผลงานทางประวัติศาสตร์ให้ยั่งยืนสืบไป







