ประวัติคณะครุศาสตร์
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เดิมใช้ชื่อว่าหมวดวิชาการศึกษา เริ่มก่อตั้งมาพร้อมกับโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2469 ที่ตำบลอู่เรือ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 กระทรวงธรรมการมีคำสั่งให้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมาตั้งในเขตพระราชวังรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม จังหวัดสมุทรสงคราม และโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มารวมด้วยและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลแผนกกสิกรรม” ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และ ในปี พ.ศ.2485 ได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดเพชรบุรี เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพชรบุรี ต่อมา ในปี พ.ศ.2491 ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2508 โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีย้ายมาตั้งที่ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2512 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้โรงเรียนเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และได้รับประกาศยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีเป็นวิทยาลัยครูเพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2512 ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาในปี พ.ศ.2519 ได้ยกฐานะเป็นคณะวิชาครุศาสตร์ในวิทยาลัยครูเพชรบุรี จัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏเพชรบุรีได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ตามพระราชบัญญัติราชภัฏ พ.ศ.2547 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 โดยในปี พ.ศ.2548 คณะครุศาสตร์ ได้มีฐานะเป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ตามกฎกระทรวงการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2548 ดำเนินการเปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
ในช่วงปี 2532-2541 คณะครุศาสตร์ มีการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี จำนวน 5 สาขาวิชา คือ การศึกษาปฐมวัย การประถมศึกษา พลศึกษา จิตวิทยาและการแนะแนวให้คำปรึกษา และเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
ปี พ.ศ. 2548-2552 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมาลี งามสมบัติ เป็นคณบดีคณะครุศาสตร์
ในปีการศึกษา 2542 สถาบันราชภัฏเพชรบุรีได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษาเป็นครั้งแรก และให้สังกัดบัณฑิตศึกษา สถาบันราชภัฏเพชรบุรี
ในปีการศึกษา 2547 หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน และหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ได้มาสังกัดคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ในปีการศึกษา 2548 ปิดหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา เนื่องจากนโยบายการผลิตครู ต้องการให้ผลิตครูตามกลุ่มสาระที่เปิดสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตั้งแต่เป็นปี พ.ศ. 2548 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมาสังกัดคณะครุศาสตร์ จำนวน 14 หลักสูตร ประกอบด้วย สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย พลศึกษา จิตวิทยาการแนะแนวและสังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ศิลปศึกษา นาฏศิลป์ศึกษา ดนตรีศึกษา เคมี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์
ปี พ.ศ. 2552-2556 อาจารย์ ดร.วิวัฒน์ วรวงศ์ เป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตที่เคยอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กลับไปสังกัดคณะเดิม คณะครุศาสตร์ จึงมีหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 2 หลักสูตร คือ การศึกษาปฐมวัย และพลศึกษา ส่วนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา มีจำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา และหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
ปี พ.ศ. 2556-2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา ทองนิล เป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ มีการเปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาเพิ่มอีก 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู และหลักสูตรประกาศนียบัตร คือ หลักสูตรเตรียมความพร้อมครูตำรวจตระเวนชายแดน 7 เดือน รวมเปิดหลักสูตรทั้งหมด 6 หลักสูตร คือ ระดับปริญญาตรี จำนวน 2 หลักสูตร คือ การศึกษาปฐมวัย และพลศึกษา และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 3 หลักสูตร คือ การบริหารการศึกษา หลักสูตรและการสอน และประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพ และหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร จำนวน 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรเตรียมความพร้อมครูตำรวจตระเวนชายแดน 7 เดือน
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562)
ปี พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา บุญส่ง เป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2564 เปิดหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ในปี 2567 เปิดหลักสูตรเพิ่มอีก 3 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา (สองภาษา) 2) หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา และ 3) หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา รวมมีหลักสูตรทั้งสิ้น 9 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต จำนวน 4 หลักสูตร คือ การศึกษาปฐมวัย การประถมศึกษา (สองภาษา) พลศึกษา และเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา 2) หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต 3 หลักสูตร คือ การบริหารการศึกษา หลักสูตรและการสอน และเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา 3) หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต จำนวน 1 หลักสูตร คือ การบริหารการศึกษา 4) หลักสูตรประกาศนีบัตรบัณฑิต จำนวน 1 หลักสูตร คือ ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และ 5) หลักสูตรประกาศนียบัตร คือ การเตรียมความพร้อมครูตำรวจตระเวนชายแดน 7 เดือน