คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

14 กุมภาพันธ์ “วันราชภัฏ” พระราชทานกำเนิด “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน

 

ความเป็นมา “วันราชภัฏ”

       วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นวันราชภัฏ เมื่อปี 2535 ในสมัยที่ ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้ขยายขอบเขตการจัดการศึกษา ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะทางให้สามารถจัดการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น กรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ(สรภ.))จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาของพระราชทานนาม วิทยาลัยครูใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครูทุกแห่งว่า “สถาบันราชภัฏ”

       เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 นับเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติสูงสุดแก่สถาบันราชภัฏ   และต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม 2538 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ เป็นสิ่งที่นำความภาคภูมิใจสูงสุดมาสู่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม ” ราชภัฏ ” และตราประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม ” ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา”

       คำว่า “ ราชภัฏ ” ให้ความหมายที่กินใจความว่า “คนของพระราชา…ข้าของแผ่นดิน” หากตีความตามความรู้สึกยิ่งกินใจและตีความได้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกนั่นก็คือ “การถวายงานประดุจข้าราชบริพารที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่ต้องถวายงานอย่างสุดความสามารถ สุดชีวิต และสุดจิตสุดใจ” ซึ่งการเป็นคนของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทย่อมเป็นข้าของแผ่นดินอีกด้วย เนื่องจากว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทผู้เป็นมิ่งขวัญของพวกเราชาวราชภัฏ ทรงเป็นแบบอย่างการทรงงานเพื่อบ้านเมือง และแผ่นดินอย่างที่มิเคยทรงหยุดพักแม้เพียงนิด แม้ยามที่ทรงประชวรก็ไม่เคยหยุดทรงงาน เพื่อความสุขของปวงชนชาวสยามของพระองค์นั้นเองด้วยเหตุผลเหล่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงได้พระราชทานพระราชลัญจกร อันเป็นเครื่องประกอบพระราชอิศริยยศ พระราชอิศริยศักดิ์ ลงมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประหนึ่งเครื่องเตือนความทรงจำว่าพวกเราชาวราชภัฏคือ “คนของพระราชา และข้าของแผ่นดิน”  

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ

       พิจารณาจากดวงตราพระราชลัญจักรประจำพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งมีรายละเอียดที่สมควร นำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้คือ
       เป็นรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ให้กำเนิดสถาบัน
       เป็นรูปแบบที่เป็นกลาง เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่ตั้ง ธรรมชาติ และความสอดคล้องกับชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้รับพระราชทาน

สีของตราประจำมหาวิทยาลัย มี 5 สี โดยมีความหมาย ดังนี้

สีน้ำเงิน   แทนค่า   สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
สีเขียว    แทนค่า   แหล่งที่ตั้งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง     แทนค่า   ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม      แทนค่า    ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
สีขาว      แทนค่า   ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

       เนื่องในวันราชภัฎ ในทุกๆ มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ จึงได้จัดกรรมต่างๆ ขึ้นอาทิ การทำบุญตักบาตร การจัดนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการ และการมอบรางวัลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีต่อการสนับสนุนอุดมการณ์ของ “ชาวราชภัฎ” หนึ่งในรอบปีมีวาระสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราเลือดราชภัฎจะถือโอกาสในการทำงานเพื่อสนองแนวทางพระราชดำริสืบต่อพระราชปณิธานและสืบสานพระราชประสงค์ เหมาะสมกับการเป็น “ข้ารองพระยุคลบาทยิ่ง” และอย่างให้ชาวราชภัฏทุกท่านสำนึกอยู่เสมอว่า “มีหน้าที่อุทิศตนทำงานทุกอย่าง เพื่อเป็นบทพิสูจน์ความจงรักภักดิ์ดี และเทิดทูนใต้ฝ่าละอองธุรีพระบาท และล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกๆ พระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ สำคัญนักเรียน นักศึกษา ครู คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พวกเราชาวราชภัฏต้องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเกศี ด้วยการปฏิบัติทึกภาระกิจที่ได้รับมอบหมายประหนึ่งทำถวายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในทุกกรณี เพราะพวกเราชาวราชภัฎคือ “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน”

Scroll to Top