คณะครุศาสตร์ เรียนอะไร จบมาแล้วทำงานอะไร คณะนี้เหมาะกับฉันไหมทำไมถึงอยากเรียนครุศาสตร์

หลายๆ คน คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” แน่นอนว่าคนสำคัญที่ช่วยสั่งสอน สร้างแรงบันดาลใจ และดูแลให้อนาคตของชาติเติบโตอย่างแข็งแรง ย่อมหนีไม่พ้นเรือจ้างอย่าง “คุณครู” ที่ทำงานอย่างหนักทุกๆ วัน ให้เด็กนักเรียนเดินทางไปถึงฝั่งฝัน

สำหรับน้องๆ ที่กำลังสนใจอยากศึกษาในหลักสูตร “ครุศาสตร์บัณฑิต”  และกำลังตัดสินใจว่าสาขานี้จะเหมาะกับเราไหม ลองอ่านบทความนี้แล้วค่อยๆ คิด พร้อมกับตอบคำถามในใจของตัวน้องๆ ดูนะครับ

ทำไมถึงอยากเรียนครุศาสตร์

หากน้องๆ อยากเป็นครู เพราะชอบทำงานกับเด็กๆ หรืออยากเป็นครู เพราะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง พี่ก็ขอสนับสนุน และเอาใจช่วยให้น้องๆ ทำตามความฝันได้สำเร็จ แต่หากใครอยากเป็นครู เพราะคิดว่ามีวันหยุดเยอะ หรือคิดว่างานสบาย ขอให้คิดใหม่ เพราะการเป็นครูที่ดีนั้นใช้ทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังสมอง ยิ่งกว่างานไหนๆ น้องๆ จะต้องมีการวางแผนการสอนเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจเด็กนักเรียนในความดูแลของตัวเอง และพร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในทุกๆ วัน

ดังนั้น ก่อนจะเลือกว่าอยากเรียนครุศาสตร์สาขาไหน พี่อยากให้น้องถามใจตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากเรียนครุศาสตร์ เพราะการมีเหตุผลที่ชัดเจน มีความหลงใหล มี Passion จะทำให้เราอดทน และมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรคที่เราจะเจอในอาชีพนี้ได้
 

ครุศาสตร์เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ใช้เวลากี่ปี

การเรียนครุศาสตร์ หรือ Pedagogy คือการเรียนรู้หลักการ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับการสอน และการเรียนรู้ของมนุษย์ น้องๆ จะได้ทำความเข้าใจว่า มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไร และทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้สอนที่ดี สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งจริยธรรมให้นักเรียนของเราเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต

เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีหลักสูตรและสาขาที่แตกต่างกัน พี่ขออนุญาตสรุปข้อมูลจากหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาเล่าให้น้องๆ เห็นภาพว่าเราจะเจออะไรบ้าง ในระยะเวลา 5 ปี ที่เราจะศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขานี้ 

คณะครุศาสตร์ของที่นี่แบ่งเป็น 6 ภาควิชา และมีวิชาเอกทั้งสิ้น 10 สาขาวิชา (อัพเดทล่าสุดวันที่ 4 เมษายน 2560) ได้แก่

  1. สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

  2. สาขาวิชาประถมศึกษา

  3. สาขาวิชามัธยมศึกษา

  4. สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา

  5. สาขาวิชาศิลปศึกษา

  6. สาขาวิชาดนตรีศึกษา

  7. สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา

  8. สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ

  9. สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา

  10. สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน


โดยทุกคนเมื่อเข้าเรียนที่นี่แล้ว ก็จะได้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น พื้นฐานการศึกษาและวิชาชีพครู การออกแบบและการจัดการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลทางการศึกษา และจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา เป็นต้น วิชาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอน การจัดการห้องเรียน และการวัดผลเด็กนักเรียนของเรา

ในขณะเดียวกัน น้องๆ ก็จะได้เลือกสาขาเอกตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสาขาการสอนวิชาต่างๆ ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ หรือการสอนในระดับชั้นต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้น้องๆ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าต้องยื่นผลสอบวิชาใดบ้าง สำหรับสาขานั้นๆ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีข้อกำหนดแตกต่างกัน
 

สาขาที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ก็จัดอยู่ในหลักสูตรครุศาสตร์ ก็เช่น
 

  1. สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา เป็นสาขาที่เรียนวิชาทางธุรกิจและบริหาร เช่น การบัญชี การตลาด การเงิน ควบคู่ไปกับวิชาทางครุศาสตร์ พอจบไปแล้วนอกจากจะสามารถไปเป็นครูสอนเศรษฐศาสตร์ได้แล้ว ยังสามารถเปิดธุรกิจของตนเอง หรือทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องในบริษัทเอกชนได้อีกด้วย

  2. สาขาจิตวิทยาการศึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ ผู้ที่เรียนสาขานี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับการแนะแนว การให้คำปรึกษาเด็กนักเรียนทั้งในด้านจิตวิทยาและอาชีพ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เอกการศึกษาพิเศษ เป็นสาขาที่เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อให้พวกเขาพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

  3. สาขาเทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) หรือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นสาขาที่จะสอนให้น้องๆ รู้จักใช้วิธีการสอน และสื่อต่างๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการออกแบบสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ เช่น รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา เป็นต้น

  4. ครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นเอกที่ผสมผสานระหว่างการเรียนวิชาทางครุศาสตร์ และ วิชาทางวิชาชีพต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ เพื่อให้บัณฑิตสามารถไปสอนในระดับปวช. ปวส. หรือวิทยาลัยทางเทคนิค เพื่อพัฒนาบุคลากรสายอาชีพที่มีความจำเป็นต่อประเทศ แต่ผู้ที่จบสาขานี้ ก็สามารถทำงานในสายอาชีพที่เรียนมา (เช่น วิศวกรรมศาสตร์) ได้เช่นกัน

  5. การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning) และสาขาที่ใกล้เคียงกันอย่าง สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นสาขาที่เชื่อว่า การเรียนรู้ของเราทุกคนไม่ได้สิ้นสุดกันแค่ในโรงเรียน แต่ทุกคนสามารถเรียนได้ตลอดชีวิต จากทุกสถานที่ในโลก สาขานี้จึงเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ต้องการการเรียนรู้และการอบรมอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในชุมชน หรือการฝึกอบรมในหน่วยงาน เป็นต้น

ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ปรับหลักสูตรให้ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี โดยปีที่ 5 จะเป็นปีสุดท้ายที่นักศึกษาทำการฝึกสอน ก่อนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู แต่จะมีบางสาขา เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 4 ปี

เรียนครุศาสตร์ จบมาทำงานอะไร

  • สอบบรรจุรับราชการครู แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่เรียนครุศาสตร์ มีใบประกอบวิชาชีพ ก็จะสอนในรายวิชาและระดับชั้นที่เรียนมา หากในจังหวัดที่เราอยู่มีอัตราจ้าง หรือจะเป็นคุณครูในโรงเรียนเอกชนก็ได้เช่นกัน เดี๋ยวนี้เงินเดือนเบื้องต้นของคุณครูเริ่มที่ 15,000 บาท เท่ากับบริษัทเอกชนแล้วนะ

  • สอบบรรจุเข้าคุรุสภา ดูแลด้านนโยบาย หลักสูตร การประเมินโรงเรียน และอาจรวมไปถึงการตรวจสอบสถานศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของคุรุสภา เป็นต้น

  • ครูสอนพิเศษ บางคนอาจค้นพบว่าตัวเองเหมาะจะสอนนักเรียนตัวต่อตัว มากกว่าสอนหน้าชั้น หรือชอบการทำงานอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง การสอนพิเศษก็อาจจะเหมาะกับเราเช่นกัน

  • นักวิชาการด้านการศึกษา ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน และการศึกษาของประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในโลก

  • อาชีพเฉพาะทาง ตามสาขาที่เรียนมา เช่น

    • เอกอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศ ก็สามารถเป็นล่าม นักแปล ไกด์ หรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้

    • สาขาธุรกิจ สามารถสมัครงานบริษัทเอกชนในสายการตลาดหรือการขาย หรือจะทำธุรกิจส่วนตัวก็ได้เช่นกัน

    • สาขาเทคโนโลยีการศึกษา สามารถสมัครงานด้านสื่อ เช่นการออกแบบรายการโทรทัศน์ หรือสื่อเพื่อการศึกษา

    • สาขาการศึกษาตลอดชีวิต หากสนใจด้านการฝึกอบรม ก็สามารถสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมตามองค์กรต่างๆ ในแผนกพัฒนาบุคลากร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) ได้

    • สาขาจิตวิทยาการศึกษา แนะแนว สามารถไปเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิทยาภายในโรงเรียน หรือเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาได้

สุดท้ายแล้ว การทำงานในสาขาต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าเรามีทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่เหมาะสมกับสายงานนั้นๆ หรือไม่ เช่นการเป็นนักออกแบบสื่อเพื่อการศึกษา ก็จะต้องใช้ทั้งความรู้ด้านการสอน ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี และการทำงานเป็นทีม น้องๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน มากพอๆ กับความรู้ เพื่อให้ตนเองเป็นที่ต้องการของบริษัทและนายจ้างในอนาคต

ครุศาสตร์เหมาะกับคนแบบไหน จะเหมาะกับเราไหม

ถึงแม้ว่าครูจะเป็นอาชีพที่มีคุณค่าและน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นครูแล้วมีความสุข พี่อยากให้น้องๆ ลองดูคุณสมบัติต่อไปนี้แล้วลองถามตัวเองว่าเราพร้อมที่จะท้าทายตัวเองกับอาชีพนี้ไหม

  • มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรักและเมตตาต่อลูกศิษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข

  • เชื่อมั่นว่านักเรียนของเราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

  • พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกศิษย์ พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกับนักเรียนเสมอ

  • รักการเรียนรู้และรักการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

  • มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และมีความคิดสร้างสรรค์

  • มีทักษะการบริหารจัดการ วางแผนได้อย่างเป็นระบบ

  • สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • มีทักษะการสื่อสารที่ดี

  • สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ

หากน้องๆ มั่นใจแล้วว่าอยากจะเรียนต่อทางด้านนี้ ลองมาดูมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศกันเลยค่ะ

Hombrelatest Running | balerínky

Scroll to Top